เกี่ยวกับโครงการ

สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันนั้นมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีการใช้สื่อออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารมากขึ้นอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้เด็กเผชิญกับอันตรายจากภัยคุกคามทางเพศและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศแบบออนไลน์ในรูปแบบของสื่อลามกอนาจารเด็ก (Child Pornography) หรือสื่อการแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กในรูปแบบต่าง ๆ บนออนไลน์ (Child Sexual Exploitation Materials) โดย ลักษณะของการกระทำผิดที่เกิดขึ้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ยากต่อการพบและรายงานการกระทำความผิด กลุ่มผู้เสียหายหลักที่ชัดเจนคือ เด็กที่เป็นผู้เสียหาย หรือเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นผู้เสียหาย ครอบครัว และสังคม อีกทั้งยังมีช่องว่างทางนโยบายและกฎหมายทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับประเทศ และมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และความขาดแคลนเทคโนโลยีและ เครื่องมือที่ใช้เพื่อบังคับใช้กฎหมายในระดับประเทศ (มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก, 2563)

ทั้งนี้ “สื่อลามกอนาจารเด็ก”ไม่ได้จำกัดเพียงสื่อมัลติมีเดียในวีดีโอ ซีดี ดีวีดี หรือภาพยนตร์ แต่ยังรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ โปรแกรมการสนทนาในแอพพลิเคชั่นต่างๆ และเกมส์ออนไลน์ ตลอดจนการสื่อสารผ่านทางอีเมล (ประมวลกฎหมายอาญา) และในขณะเดียวกันผู้เสียหาย ไม่ได้เป็นเพียงเด็กกลุ่มเปราะบางที่เป็นเด็กกลุ่มยากจนหรือเด็กชายขอบเท่านั้น แต่ยังพบว่าเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจปานกลางหรือฐานะดี บางรายเป็นเด็กที่มีการศึกษาที่ดีจากสถานศึกษามีชื่อชั้นนำในประเทศไทย และบางรายเป็นนักกีฬาและนักแสดง ซึ่งมีรายได้และมีชื่อเสียงทางสังคม แต่ถูกหลอกลวงและบังคับขู่เข็ญโดยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์และนำไปสู่การตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตและการค้ามนุษย์ในรูปแบบดังกล่าว

โดยที่ผ่านมาพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายฯ “การต่อต้านการค้ามนุษย์” เป็นวาระแห่งชาติ จากนั้นวันที่ 8 ม.ค. 2559 ได้ตั้งคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต หรือ ไทแคค (Thailand Internet Crimes Against Children-TICAC Task Force) ดำเนินการภายใต้การบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 ได้ลงนามข้อตกลง Cyber Tipline Remote Access Policy ร่วมกับ U.S. National Center for Missing and Exploited Children (NCMEC) ที่เมือง Alexandria รัฐ Virginia ซึ่งเป็นข้อตกลงในการช่องทางให้หน่วยงานไทยสามารถเข้าถึงรายงานของ NCMEC ที่เกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในการบูรณาการข้อมูลในลักษณะ real–time โดยเป็นลักษณะของการการตรวจจับเฝ้าระวังพฤติการณ์ เพื่อนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในประเทศไทย

ตลอดเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายและแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามกออนไลน์เด็ก ตลอดจนพัฒนาระบบกลไกการแจ้งเหตุและการคุ้มครองผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายและผู้ที่ได้รับกระทบจากอาชญากรรมสื่อลามกออนไลน์เด็กได้มีโอกาสในการเยียวยาจิตใจและสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขภายหลังจากเหตุการณ์การล่วงละเมิดที่เกิดขึ้น ตลอดจนสามารถยืนหยัดและออกจากวงจรของการตกเป็นผู้เสียหายจากอาชญากรรมสื่อลามกออนไลน์เด็กและไม่ผันตัวเองมาเป็นผู้กระทำความผิดที่แสวงหาประโยชน์ทางเพศจากอาชญากรรมดังกล่าว

อย่างไรก็ดี แนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงที่มีมากขึ้น การยกระดับการทำงานและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา จึงมีความจำเป็นและมีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ แก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ภายใต้คำสั่งสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (สบนร.) โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมร่วมเป็นคณะทำงาน อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โครงการ HUG Project มูลนิธิสปริง เป็นต้น ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาและเร่งรัดหาพัฒนาหาแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งการป้องกันปราบปรามและฟื้นฟูเยียวยาเด็กผู้เสียหาย ปัจจุบันแต่ละหน่วยงานต่างเปิดศูนย์รับแจ้งหรือมีหมายเลขแจ้งเหตุด่วนเป็นการเฉพาะเพื่อให้การช่วยเหลือกรณีดังกล่าว แต่การประสานงานส่งต่อข้อมูลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือผู้เสียหายและจับกุมผู้กระทำผิด ยังไม่เป็นไปในทิศทางและหลักการเดียวกัน การปฏิบัติบางขั้นตอนจึงเป็นทำลายพยานหลักฐานหรือปนเปื้อนพยานหลักฐานทางดิจิทัล และอาจรุนแรงไปถึงการสร้างผลกระทบเป็นบาดแผลทางจิตใจของเด็กผู้เสียหาย (trauma) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานร่วมกันในรูปแบบของทีมสหวิชาชีพ ภายใต้หัวใจการทำงานที่เป็นหลักการเดียวกัน หลักการยึดเด็กผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (Child Centric Approach) และหลอมรวมทุกกระทรวง ทุกกรมกอง ให้เป็นรูปแบบการทำงานที่เป็นทีมเดียวกัน ทีมประเทศไทย คณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ภายใต้คำสั่งสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (สบนร.) ได้มีมติร่วมกันที่จะต้องบูรณาการให้เป็นทีมสหวิชาชีพและสร้างกระบวนการที่เกี่ยวข้องให้เป็นมิตรกับเด็กมากที่สุด ตั้งแต่ศูนย์รับแจ้งเหตุ การคุ้มครองให้ความช่วยเหลือ การสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี การพิจารณาพิพากษาคดี การฟื้นฟูเยียวยา โดยเบื้องต้นจะต้องมีศูนย์กลางการรับแจ้งเหตุที่เชื่อมโยงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสามารถประสานงานส่งต่อข้อมูลนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือเด็กผู้เสียหายเป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง

โครงการแก้ไขจัดการปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ภายใต้โครงการประชารัฐยุติธรรมนำเด็กปลอดภัย จึงเกิดขึ้น โดยสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (สบนร.) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า โดยได้จัดทำข้อเสนอแนะในการทำงานของหน่วยงานบูรณาการให้เป็นทีมสหวิชาชีพ การจัดทำหลักสูตรอบรมให้แก่ผู้รับแจ้งเหตุและทีมสหวิชาชีพ การจัดทำสื่อหนังสือเผยแพร่ให้ความรู้ และการสร้างช่องทางเว็บไซต์ศูนย์กลางในการรับแจ้งเหตุ www.คลิปหลุดทำไง.com เพื่อเป็นช่องทางร้องขอความช่วยเหลือ การติดตามผลทางคดี รวมถึงเป็นช่องทางประสานงานของสหวิชาชีพ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ และจะมีการเปิดโครงการและนำเสนอเว็บไซต์อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ซึ่งจากนี้ไป ผู้พบเห็นหรือทราบเบาะแสเรื่อง การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตสามารถแจ้งเหตุได้โดยง่ายและปลอดภัย

คณะทำงาน